การพัฒนาทักษะการฟังและการดู

การพัฒนาทักษะการฟังและการดู

  ความหมายของการฟังและการดู

   การฟังและการดูเป็นกระบวนการทำงานของประสาทหูและตาที่ส่งต่อไปยังสมองเพื่อให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ และจดจำในสารเหล่านั้น โดยทั้งสองทักษะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรู้ข้อมูลปัจจุบัน

  ความสำคัญของการฟังและการดู

   การฟังเป็นทักษะที่ใช้มากที่สุด มีความสำคัญต่อการกลั่นกรองและไตร่ตรองสารจำนวนมากที่รับ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ขณะที่การดูนั้นเข้ามาช่วยต่อยอดทักษะการฟังเพื่อให้รับสารได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

   นอกจากนี้ การฟังยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการพูด เพราะทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์กัน ดังนี้

  •       การพูดจะต้องมีผู้ฟัง จึงจะถือว่าเป็นการพูดที่สมบูรณ์
  •       การพูดมีความมุ่งหมายสำคัญ คือ สื่อความให้ผู้ฟังเข้าใจ
  •       ปฏิกิริยาจากผู้ฟังที่ดีมีมารยาทจะทำให้ผู้พูดมีกำลังใจและพูดได้ตรงตามวัตถุประสงค์
  •       การเป็นนักฟังมีส่วนช่วยให้เป็นนักพูด เพราะนักฟังเก็บความรู้ได้จากการฟังและสังเกตสิ่งที่ผู้อื่นพูด
  •   ศิลปะในการฟัง

   คนส่วนใหญ่รู้เพียงว่าการพูดเป็นศิลปะที่เรียกว่า วาทศิลป์ แท้จริงแล้วการฟังก็เป็นศิลปะเช่นกัน เพราะศิลปะการฟังจะช่วยให้ผู้พูดพูดได้อย่างลุล่วง หลักของศิลปะในการฟัง มีดังนี้

  •       แสดงให้ผู้พูดรู้สึกว่าผู้ฟังมีความมุ่งหมายและตั้งใจที่ฟัง
  •       สามารถโน้มน้าวให้ผู้พูดได้พูดเรื่องที่ตนถนัดที่สุด
  •       แทรกคำถามที่เหมาะสมกับโอกาส
  •       เปิดโอกาสให้ผู้พูดได้พูดอย่างเต็มที่
  •       เมื่อรู้สึกว่าผู้พูดหมดเรื่องที่จะพูด สามารถกระตุ้นให้ผู้พูดมีเรื่องที่จะพูดต่อไป

  ลักษณะของการฟังและการดูที่ดี

  •       มีมารยาทในการฟังและการดู แสดงความสนใจผ่านการตั้งคำถาม ยอมรับฟังความคิดเห็น และรู้จัก           ควบคุมอารมณ์
  •       ตั้งเป้าหมายในการฟังและการดู และพยายามทำให้ได้ตามความมุ่งหมาย
  •       เลือกฟังและดูแต่เรื่องที่มีประโยชน์ และเลี่ยงเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยใช้เหตุผลแยกแยะข้อเท็จจริง             และลงความเห็น
  •       รู้จักใช้ศิลปะในการฟัง
  •      บันทึกสาระสำคัญและประเด็นที่ควรซักถามเพิ่มเติม

  ความมุ่งหมายในการฟังและการดู

  •       เพื่อจับใจความสำคัญและใจความอันดับรอง
  •       เพื่อแยกส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น
  •       เพื่อหาเหตุผลสนับสนุนความเชื่อและความขัดแย้ง
  •       เพื่อให้ซาบซึ้งในคุณค่าต่าง ๆ เช่น คุณค่าทางวรรณคดี คติธรรม หรือสุนทรียภาพทางดนตรี
  •       เพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและความรู้
  •     เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน